รัชสมัยพระราชินีนาถแอนน์ ของ แอนน์ สมเด็จพระราชินีนาถแห่งบริเตนใหญ่

พระราชินีนาถแอนน์ ราว ค.ศ. 1690

สงครามสืบราชบัลลังก์สเปน

ทันทีที่เจ้าหญิงแอนน์เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระราชินีนาถแอนน์ พระองค์ก็ทรงต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับสงครามสืบราชบัลลังก์สเปน ซึ่งเป็นสงครามที่อังกฤษสนับสนุนสิทธิในการครองราชบัลลังก์สเปนของอาร์ชดยุกคาร์ลและเป็นสงครามที่ต่อเนื่องเรื่อยมาจนสิ้นสมัยของพระองค์และเป็นสงครามที่มีอิทธิพลต่อทั้งนโยบายการต่างประเทศและนโยบายภายในประเทศ

หลังจากนั้นก็ทรงแต่งตั้งพระสวามีขึ้นเป็น “ผู้บัญชาการทหารเรือ” (Lord High Admiral) ผู้มีอำนาจสูงสุดในราชนาวี และทรงมอบอำนาจการปกครองทหารบกให้แก่ลอร์ดมาร์ลบะระในตำแหน่ง “ร้อยเอก” (Captain-General) [20] นอกจากนั้นลอร์ดมาร์ลบะระยังได้รับเกียรติยศอีกหลายอย่างจากพระราชินีนาถแอนน์รวมทั้งได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์ (Knight of the Garter) และได้รับเลื่อนจากเอิร์ลเป็นดยุก[21] ดัชเชสแห่งมาร์ลบะระก็ได้รับตำแหน่งในราชสำนักสูงขึ้นเป็น “เจ้ากรมพระภูษามาลา” (Mistress of the Robes) ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของสตรีประจำราชสำนัก ผู้มีหน้าที่ดูแลพระภูษามาลาและเครื่องเพชรพลอยของพระราชินีนาถแอนน์

พระราชบัญญัติสหภาพ

เมื่อผ่านพระราชบัญญัติการสืบสันตติวงศ์ ค.ศ. 1701 รัฐสภาอังกฤษมิได้ปรึกษารัฐสภาสกอตแลนด์ที่ส่วนหนึ่งมีความประสงค์ที่จะรักษาราชบัลลังก์ไว้กับราชวงศ์สจวตและรักษาสิทธิในการเลือกผู้สืบราชบัลลังก์[22] ทางราชอาณาจักรสกอตแลนด์จึงตอบโต้กลับด้วยการออกพระราชบัญญัติเพื่อความปลอดภัย ค.ศ. 1704 ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติที่ระบุว่าเมื่อสิ้นสุดจากพระราชินีนาถแอนน์แล้ว สกอตแลนด์มีอำนาจที่จะเลือกประมุขพระองค์ต่อไปสำหรับราชบัลลังก์สกอตแลนด์จากผู้สืบเชื้อสายของราชวงศ์ของสกอตแลนด์ (ผู้ที่ได้รับเลือกโดยสกอตแลนด์จะไม่เป็นผู้เดียวกับผู้เดียวกับผู้ปกครองราชอาณาจักรอังกฤษ นอกจากว่าถ้าสถานะการณ์ทางศาสนา เศรษฐกิจ และทางการเมืองจะเป็นที่ตกลงกันได้) แต่พระราชบัญญัติฉบับนี้มิได้รับการยอมรับจนเมื่อสกอตแลนด์ขู่ว่าจะถอนตัวจากกองทัพของดยุกแห่งมาร์ลบะระในยุโรปและไม่ยอมเก็บภาษีต่างๆ ตามที่อังกฤษต้องการ

แต่ความที่รัฐสภาอังกฤษเกรงว่าสกอตแลนด์จะหันกลับไปเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศสถ้าสกอตแลนด์ได้รับเอกราช ทางการอังกฤษจึงได้ออกพระราชบัญญัติต่างด้าว ค.ศ. 1705 (Alien Act 1705) เป็นการตอบโต้ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติที่ระบุว่าอังกฤษจะต่อต้านสกอตแลนด์ทางเศรษฐกิจและจะประกาศให้ชาวสกอตแลนด์เป็นคนต่างด้าวทั้งหมด (ซึ่งเป็นการทำให้มีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิในการเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ของชาวสกอตแลนด์ในอังกฤษ) นอกจากว่าสกอตแลนด์จะยกเลิก “พระราชบัญญัติเพื่อความปลอดภัย” และเข้ารวมตัวกับอังกฤษ สกอตแลนด์เลือกประการหลัง ด้วยเหตุนี้สกอตแลนด์จึงส่งผู้แทนมาเจรจาต่อรองในการรวมตัวกับอังกฤษเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 1706 ข้อตกลงได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาสกอตแลนด์เมื่อวันที่ 16 มกราคม ค.ศ. 1707 ภายใต้พระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1707อังกฤษและสกอตแลนด์จึงกลายเป็นอาณาจักรเดียวกันในชื่อ “บริเตนใหญ่” เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1707 [23]

การปกครองระบบสองพรรค

ในรัชกาลของพระราชินีนาถแอนน์การปกครองของรัฐสภาวิวัฒนาการแยกเป็นสองพรรค: พรรคทอรีและพรรควิก พระองค์เองโปรดพรรคทอรีมากกว่าแต่ก็ทรง อดทนกับนโยบายของพรรควิก

องค์มนตรีชุดแรกของพระราชินีนาถแอนน์มาจากพรรคทอรีโดยมีซิดนีย์ โกโดลฟิน เอิร์ลแห่งโกโดลฟินที่ 1 (Sidney Godolphin, 1st Earl of Godolphin) เป็นหัวหน้าแต่พรรควิกซึ่งไม่เห็นด้วยกับพรรคทอรีในการสนับสนุนสงครามสืบราชบัลลังก์ออสเตรีย พรรควิกยิ่งมีอิทธิพลมากขึ้นเมื่อดยุกแห่งมาร์ลบะระได้รับชัยชนะในยุทธการเบล็นไฮม์ในปี ค.ศ. 1704 พรรควิกจึงเข้ามาเป็นองค์มนตรีแทนพรรคทอรีจนเกือบหมด ลอร์ดโกโดลฟินถึงแม้ว่าจะเป็นพรรคทอรีแต่ก็สนับสนุนดยุกแห่งมาร์ลบะระ ฉะนั้นถึงแม้ว่าลอร์ดโกโดลฟินจะเป็นหัวหน้าคณะมุขมนตรีแต่อำนาจที่แท้จริงมาจากดยุกแห่งมาร์ลบะระและเสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ ชาร์ลส์ สเป็นเซอร์ เอิร์ลแห่งซันเดอร์แลนด์ที่ 3 และโรเบิร์ต ฮาร์ลีย์ เอิร์ลแห่งอ็อกฟอร์ดและมอร์ติเมอร์

การสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายจอร์จ

เจ้าชายจอร์จแห่งเดนมาร์กพระสวามีของพระราชินีนาถแอนน์สิ้นพระชนม์เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1708[24] การเป็นผู้นำทางราชนาวีของพระองค์ไม่เป็นที่นิยมต่อพรรควิก ขณะที่ทรงนอนประชวรพรรควิกก็วางแผนที่จะปลดพระองค์จากตำแหน่ง “ผู้บัญชาการทหารสูงสุด” พระราชินีนาถแอนน์จึงทรงขอให้ดยุกแห่งมาร์ลบะระหยุดยั้งมิให้ยื่นคำรัองที่ว่า

พระราชินีนาถแอนน์ทรงโทมนัสจากการสูญเสียพระสวามีเป็นอันมากและสิ่งนี้เองเป็นจุดที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์และดัชเชสแห่งมาร์ลบะระพระสหายเก่าเปลี่ยนแปลงไปด้วย ดัชเชสแห่งมาร์ลบะระมาถึงพระราชวังวินด์เซอร์ไม่นานหลังจากเจ้าชายจอร์จสิ้นพระชนม์และบังคับให้พระราชินีนาถแอนน์ออกจากพระราชวังวินด์เซอร์ไปประทับที่พระราชวังเซนต์เจมส์ทั้งๆ ที่ไม่ตรงกับพระราชประสงค์ พระราชินีนาถแอนน์ทรงขอร้องว่าให้ทิ้งพระองค์ไว้ให้โศรกเศร้าเพียงลำพัง แต่ดัชเชสแห่งมาร์ลบะระกลับจัดให้มีคนมาเฝ้าดูแลพระองค์ตลอดเวลา จึงทรงกริ้วดัชเชสแห่งมาร์ลบะระที่เจ้ากี้เจ้าการในสิ่งที่ไม่เป็นที่ต้องพระราชประสงค์

พรรควิกฉวยโอกาสในการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายจอร์จในขณะที่พระราชินีนาถแอนน์ยังทรงโศรกเศร้าโดยไม่ยอมรับพระราชประสงค์และก่อตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรควิกที่นำโดย ซิดนีย์ โกโดลฟิน เอิร์ลแห่งโกโดลฟินที่ 1 แต่อำนาจของพรรควิกยังถูกจำกัดอยู่เนื่องจากพระราชินีนาถแอนน์ทรงยืนยันที่จะทำหน้าที่ “ผู้บัญชาการทหารสูงสุด” ด้วยพระองค์เองโดยไม่ยอมแต่งตั้งผู้ใดจากพรรควิกมาแทนพระสวามี แต่พรรควิกไม่สนใจและเรียกร้องให้ทรงตั้งเอ็ดเวิร์ด รัสเซลล์ เอิร์ลแห่งอ็อกฟอร์ดที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ต่อต้านคนสำคัญของเจ้าชายจอร์จดำรงตำแหน่งนั้น พระราชินีนาถแอนน์ทรงปฏิเสธอย่างเด็ดขาดและทรงเลือกคนของพระองค์เอง โธมัส เฮอร์เบิร์ต,เอิร์ลแห่งเพ็มโบรคที่ 8 ขึ้นเป็น “ผู้บัญชาการทหารสูงสุด” คนใหม่เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 1709 แต่พรรควิกก็สร้างความกดดันจนเอิร์ลแห่งเพ็มโบรคต้องลาออกเพียงเดือนเดียวหลังจากที่ได้รับแต่งตั้ง ในที่สุดพระราชินีนาถแอนน์จึงทรงยอมแต่งตั้งเอ็ดเวิร์ด รัสเซลล์ เอิร์ลแห่งอ็อกฟอร์ดตามที่พรรควิกต้องการ

บั้นปลายพระชนม์ชีพ

พระราชินีนาถแอนน์ ค.ศ. 1702

สงครามสืบราชบัลลังก์สเปนเป็นสงครามที่สิ้นเปลืองมากจนทำให้ความนิยมในการปกครองของพรรควิกเสื่อมลง โดยเฉพาะในการที่โรเบิร์ต ฮาร์ลีย์ เอิร์ลแห่งอ็อกฟอร์ดและมอร์ติเมอร์ที่ใช้ปัญหาทางเศรษฐกิจจากสงครามในการเร้าใจผู้เลือกตั้ง ในการเลือกตั้งทั่วไปในปี ค.ศ. 1710 พรรคทอรีจึงได้รับเลือกกลับมาเป็นพรรคเสียงข้างมาก[25] คณะมนตรีใหม่นำโดยโรเบิร์ต ฮาร์ลีย์พยายามหาทางยุติสงครามสืบราชบัลลังก์สเปน โดยพรรคทอรีเสนอให้ยกสเปนให้พระนัดดาของกษัตริย์ฝรั่งเศสแต่พรรควิกทนความคิดที่จะให้ราชวงศ์บูร์บง ขึ้นครองราชบัลลังก์สเปนไม่ได้[26]

ข้อโต้เถียงมายุติลงเมื่อพระพระเชษฐาของอาร์คดยุกชาร์ลส์ผู้ที่พรรควิกสนับสนุนเสด็จสวรรคตเมื่อปี ค.ศ. 1711 ชาร์ลส์จึงได้ออสเตรีย ฮังการี และราชบัลลังก์ของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ อังกฤษจึงไม่ได้ประโยชน์อะไรกับการยกราชบัลลังก์สเปนให้ชาร์ลส์ แต่สนธิสัญญาอูเทรชท์ ค.ศ. 1713 (Treaty of Utrecht 1713) ที่เสนอต่อรัฐสภาก็มิได้รวมการลดอำนาจราชวงศ์บูร์บงตามที่พรรควิกต้องการ[27]

พรรคทอรีของสภาสามัญชนได้รับความนิยมจนมีอำนาจที่ไม่มีผู้ใดหยุดยั้งได้ แต่พรรคทอรีของสภาขุนนางไม่มีอำนาจเช่นเดียวกัน พระราชินีนาถแอนน์จึงทรงตั้งตำแหน่งขุนนางสืบตระกูล (Peerage) ใหม่ขึ้นอีกสิบสองตำแหน่งเพื่อจะลดเสียงข้างมากของพรรควิกในสภาขุนนาง การแต่งตั้งขุนนางสืบตระกูลครั้งใหญ่เช่นนี้ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์อังกฤษ จำนวนตำแหน่งที่แต่งตั้งโดยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษในระยะเวลาเกือบห้าสิบปีที่ครองราชย์ยังน้อยกว่าจำนวนที่พระราชินีนาถแอนน์ทรงแต่งตั้งขึ้นภายในวันเดียว[28] การกระทำครั้งนี้ทำให้การอนุมัติสนธิสัญญาและยุติการเกี่ยวข้องของอังกฤษในสงครามสืบราชบัลลังก์สเปนสำเร็จ[29]

สวรรคต

พระราชินีนาถแอนน์สวรรคตด้วยโรคข้อต่ออักเสบเมื่อเวลาประมาณ 7 นาฬิกาของวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1714 พระบรมศพของพระองค์บวมมากจนต้องใส่ในโรงพระศพที่เกือบจะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมที่แอบบีเวสต์มินสเตอร์[30] และด้วยเหตุที่เจ้าหญิงโซเฟียแห่งฮาโนเวอร์ผู้เป็นรัชทายาทตามพระราชบัญญัติการสืบสันตติวงศ์ ค.ศ. 1701 มาสิ้นพระชนม์ไปเสียก่อน (8 มิถุนายน ปีเดียวกัน) เจ้าชายจอร์จแห่งฮาโนเวอร์ผู้เป็นพระโอรสของเจ้าหญิงโซเฟียจึงเสด็จขึ้นครองราชย์ต่อมาเป็นพระเจ้าจอร์จที่ 1 แห่งบริเตนใหญ่แทน [1] โดยการละเว้นผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์คนอื่นๆ เช่นเจมส์ ฟรานซิส เอ็ดเวิร์ด สจวตพระโอรสของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 การขึ้นครองราชย์เป็นไปโดยไม่มีอุปสรรคสำคัญนอกจากการแข็งข้อที่ล้มเหลวของจาโคไบต์ (Jacobitism) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สนับสนุนราชวงศ์สจวตสองครั้งในปี ค.ศ. 1715 และ 1719[31]

แหล่งที่มา

WikiPedia: แอนน์ สมเด็จพระราชินีนาถแห่งบริเตนใหญ่ http://jacobite.ca/kings/james2.htm http://concise.britannica.com/ebc/article-9051033/... http://books.google.com/books?vid=OCLC02069656&id=... http://commons.wikimedia.org/wiki/Image:Blenheim_P... http://commons.wikimedia.org/wiki/Image:Castle_How... http://commons.wikimedia.org/wiki/Image:Painting_o... http://en.wikipedia.org/wiki/Henrietta_Anne_Stuart http://en.wikipedia.org/wiki/Image:Ordergarter.jpg